ส่วนที่ 1 ท่านถาม-เราตอบ เกี่ยวกับด้านธุรกิจและที่ปรึกษา

คำถาม : สิ่งที่บ่งบอกถึง “ความไม่มั่นคง” ขององค์กร ได้แก่อะไรบ้าง ?

สัญญานอันบ่งถึง “ความไม่มั่นคง” ขององค์กร โดยเฉพาะด้านธุรกิจ ได้แก่
1. ยอดขายลด กำไรตก เติบโตถอถอย ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
2. เริ่มขาดทุน ด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งที่ได้พยายามลด
3. การมีบุคลากรดีๆ เก่งๆ สักทีม ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงสุด
4. เริ่มรู้สึกว่ามีพนักงานมากเกินความจำเป็น แต่ก็ไม่อยากตัดทิ้ง
5. เกิดการประสานงา บ่อยครั้งที่ให้ประสานงาน ทางใครทางมัน
6. เฉื่อยชา-ไม่สดชื่น แรงตก-เร่งไม่ขึ้น บ่งอาการเบื่อหน่ายงาน
7. สื่อสารขัดข้องผิดเพี้ยนบ่อย เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงปรับปรุง
8. และอื่นๆในยุคปัจจุบันทั้งเรื่องเทคโนโลยีและเรื่องของเจนเนอเรชั่น

คำถาม : อะไรคือแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ?

แรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาจอธิบายให้ง่ายได้ด้วย “5 Forces Model” ของ Michael E. Porter ได้แก่
1. ภัยจากคู่แข่งที่มีอยู่เดิมในตลาด (Threat of Competition)
2. ภัยจากคู่แข่งหน้าใหม่ (Threat of New Entrants)
3. ภัยจากสินค้าหรือบริการทดแทน (Threat of Substitute Products and Services)
4. อำนาจต่อรองของลูกค้า (The bargaining power of Customers)
5. อำนาจต่อรองของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายวัตถุดิบ (The bargaining power of Suppliers)

คำถาม : ทำไมองค์กรจะต้องมีการบริหารการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ?

เหตุที่องค์กรจะต้องบริหารการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพราะ
1. องค์กรที่มีการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ดีจะปรับตัวได้ทันกับปัญหาและการท้าทายจากสภาพแวดล้อมได้
2. การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ดีช่วยให้องค์กรเห็นโอกาสและภัยคุกคามต่างๆที่เกิดขึ้น
3. การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ดีจะ ช่วยให้การดําเนินงานขององค์กรเป็นไปโดยราบรื่น
4. การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ดีจะช่วยให้องค์กรไม่สับสนวุ่นวาย ระส่ําระสาย เมื่อต้องเผชิญกับความจําเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนการดําเนินงาน
5. การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ดี จะช่วยให้องค์กรได้ปรับปรุงตัวเองอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆและจะช่วยให้มีการนําศักยภาพที่มีอยู่ในองค์กรมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า

คำถาม : ผู้บริหารควรทำอย่างไรเพื่อปรับองค์กรยุคปัจจุบันที่การทำงานไม่เหมือนเดิม ?

ในยุคปัจจุบันที่พนักงานก็อาจจะมีวิธีคิดและการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นแนวทางของการบริหาร ได้แก่

1. การเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็น นข้อเสนอแนะจากพนักงานอย่างตั้งใจ แล้วก็นำมาปรับปรุงแก้ไข ตอบสนองให้ทันท่วงที พัฒนาให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งองค์กรและพนักงานต่างก็ได้รับผลประโยชน์ที่ดี
2. เงินเดือนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเสมอไปที่จะดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงานกับองค์กร ตลอดจนซื้อใจพนักงานให้ทำงานกับองค์กรให้นานที่สุด แต่องค์กรก็ควรให้เงินเดือนที่เหมาะสมกับงาน ไม่เอาเปรียบพนักงาน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย
3. การกล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ มีความท้าทายในการทำงานมากกว่าความเบื่อหน่าย อาจเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงานในยุคนี้มากกว่า
4. ความยืดหยุ่นก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการทำงานในยุคนี้ องค์กรที่มีความยืดหยุ่นสามารถเจรจาข้อตกลงกับพนักงานให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ ทำให้องค์กรมีโอกาสได้ร่วมงานกับคนหลากหลายประเภท หลากหลายความสามารถ และองค์กรได้รับสิ่งดีๆในหลากหลายมิติได้ด้วย

คำถาม : การมีที่ปรึกษาช่วยในการบริหารองค์กรเป็นประโยชน์อย่างไร ?

ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจต่างๆของผู้ประกอบการ มีแนวโน้มการใช้บริการที่ปรึกษาธุรกิจมากขึ้น ทั้งในสถานประกอบการขนาดใหญ่ และสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เนื่องจากสถานประกอบการไม่มีความรู้ความชำนาญในการบริหารจัดการครบทุกด้านตามที่ต้องการ เนื่องจากมีทรัพยากร หรือบุคลากรที่จำกัด นอกจากนี้ การขาดความชำนาญในบางด้านของธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งขันจากต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งคู่แข่งในประเทศเดียวกัน ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องมองหาปรึกษาธุรกิจมาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหรือเพื่อเข้ามาช่วยบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มประสิทธิผล เช่น

1. ที่ปรึกษามืออาชีพมักใช้ผลสำเร็จของงานเป็นตัวชี้วัด
2. ที่ปรึกษาด้านการขายและการตลาดจะช่วยกระตุ้นยอดขายอันเป็นรายได้ขององค์กรตลอดระยะเวลา
3. ที่ปรึกษาจะแนะนำการพัฒนาระบบต่างๆที่ปัจจุบันมีหลากหลายอย่างเป็นระบบ
4. ที่ปรึกษาจะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเป็นสำคัญและอย่างต่อเนื่อง
5. ที่ปรึกษาจะช่วยประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายที่องค์กรอาจเคยจ่ายไปด้วยความไม่รู้

 

ส่วนที่ 2 ท่านถาม-เราตอบ เกี่ยวกับด้านกฎหมาย

คำถาม : สัญญาทางแพ่ง ต่างจาก สัญญาทางปกครอง อย่างไร ?

การทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ อาจเป็นสัญญาทางปกครองหรือสัญญาทางแพ่ง และการเป็นสัญญาประเภทไหน สำคัญต่อการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล ถ้าเป็นสัญญาทางแพ่ง เมื่อมีข้อโต้แย้งขึ้นต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรม และหากเป็นสัญญาทางปกครองต้องฟ้องต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จากนิยามของ“สัญญาทางปกครอง” ที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 6/2544 สรุปได้ดังนี้ ประการแรก คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งต้องเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐ (คู่สัญญา) ประการที่สอง สัญญานั้นมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง (วัตถุประสงค์ของสัญญา) หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งก็คือการบริการสาธารณะบรรลุผล ดังนั้น หากสัญญาใดเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐมุ่งผูกพันตนกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และมิได้มีลักษณะเช่นที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สัญญานั้นย่อมเป็นสัญญาทางแพ่ง

คำถาม : สินสมรส กับ สินส่วนตัว ต่างกันอย่างไร ?

สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส หมายถึง ทรัพย์สินอื่นๆนอกจากที่เป็นสินส่วนตัวแล้ว ถ้าคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายใดได้มา ก็ถือว่าเป็นสินสมรสทั้งสิ้น เช่น เงินเดือน โบนัส เงินรางวัลจากลอตเตอรี่ เป็นต้น กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้ที่ทำเป็นหนังสือ แต่พินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้น ต้องระบุว่าให้เป็นสินสมรสด้วย ถ้าไม่ระบุก็ถือเป็นสินส่วนตัว ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว คำว่า “ดอกผล” หมายถึง ผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์นั้น ซึ่งอาจเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นจากความผูกพันตามกฏหมายก็ได้ เช่น มีแม่วัว ลูกวัวก็เป็นดอกผลธรรมชาติ มีรถแล้วเอารถไปให้เขาเช่า ค่าเช่าก็เป็นดอกผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย เป็นต้น

สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น กฎหมายให้ถือเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายหญิง นอกจากนี้ถ้าทรัพย์สินดังกล่าวได้เปลี่ยนสภาพไป เช่น ขายไปได้เงินมาเงินนั้นก็จะกลายเป็นสินส่วนตัวเช่นกัน หรือเอาเงินที่เป็นสินส่วนตัวไปซื้อของสิ่งนั้นก็จะกลายเป็นสินส่วนตัวด้วยกฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรสไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น บ้าน ที่ดิน แก้วแหวน เงิน ทอง ถ้ามีอยู่ก่อนสมรสกฎหมายถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้นั้น ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับตามสมควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น เครื่องใช้สอยส่วนตัว เช่น แว่นตา แปรงสีฟัน เป็นต้น เครื่องประดับกาย เช่น สร้อยคอ แหวน กำไล ต่างหู แต่ต้องพิจารณาถึงฐานะด้วย เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ ต้องดูว่าอาชีพนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง เช่น เป็นหมอก็ต้องมีเครื่องมือตรวจโรค ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสไม่ว่าโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา ในกรณีนี้หมายถึงการได้มาในส่วนตัวโดยแท้ ดังนั้น กฎหมายจึงให้ถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละคน

คำถาม : ความแตกต่าง ทางจําเป็น กับ ภาระจํายอม นั้นอย่างไร ?

ทางจําเป็น หมายถึง ที่ดินที่ถูกล้อมด้วยที่ดินแปลงอื่นอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้หรือมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ไม่สะดวก เช่น จะต้องข้ามบึง ทะเล หรือที่ลาดชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมาก (มาตรา 1349 แห่ง ป.พ.พ.) กฎหมายจึงให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมให้มีสิทธิผ่านที่ดินแปลงอื่นซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ความแตกต่าง ” ทางจําเป็น – ภาระจํายอม “

1. ทางจําเป็นเป็นที่ดินตาบอด ภาระจำยอมไม่จําเป็นต้องเป็นที่ดินที่ถูกล้อมหรือที่ดินที่อยู่ติดกัน แม้ที่ดินไม่ได้อยู่ติดกันก็สามารถใช้ทางภาระจํายอมได้ – ไม่จําเป็นต้องเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ภาระจํายอมไปสู่ที่ใดก็ได้
2. ทางจําเป็นต้องใช้ค่าทดแทน (มาตรา 1349 วรรคท้าย) หรืออาจไม่ต้องใช้ค่าทดแทน (มาตรา 1350) ภาระจำยอมโดยนิติกรรม กฎหมายไม่ได้กําหนดว่าจะต้องเสียค่าทดแทน แล้วแต่เจ้าของที่ดินจะตกลงกันว่าจะมีการเสียค่าทดแทนหรือไม่
3. ทางจําเป็นไม่ต้องจดทะเบียน (มาตรา 1338) เป็นทรัพยสิทธิโดยสมบรูณ์ แต่ภาระจํายอมไม่จดทะเบียนไม่สมบรูณ์ (มาตรา 1299 วรรค 1/วรรค 2) หากไม่ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จะใช้บังคับได้เพียงระหว่างคู่สัญญาในฐานะเป็นบุคคลสิทธิเท่านั้น ยกเว้น กรณีภาระจํายอมสิ้นไปโดยพ้นกําหนดเวลาที่ตกลงไว้ถือว่าเป็นอันยกเลิกไปโดยไม่ต้องจดทะเบียนเลิกภาระจํายอม
4. ทางจําเป็นหมดความจําเป็นก็สิ้นไป ภาระจํายอมไม่ใช้ 10 ปี หรือจดทะเบียนยกเลิกทางจำเป็น ตามมาตรา 1349 เป็นสิทธิตามกฎหมาย แม้ได้มาโดยรู้แต่ต้องใช้สิทธิโดยสุจริตผ่านทางโดยเจ้าของที่ดินยินยอมให้ผ่าน ขอเปิดทางจําเป็นในที่ดินอีกแปลงได้เพราะเจ้าของที่ดินที่ล้อมจะไม่ยินยอมให้ผ่านเมื่อใดก็ได้โดยอาศัยหลักความเป็นเจ้าของตาม ม.1336 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ หมายรวมถึงทางบก – ทางน้ำ – ถ้าเพียงแต่ไปมาไม่สะดวกเท่าทางบก แต่หากยังคงใช้สัญจรได้ตามปกติก็ถือว่าเป็นทางสาธารณะ แม้มีทางออกสู่ทางสาธารณะแต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล ถือว่า ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมเท่านั้นที่ฟ้องร้องขอให้เปิดทางจําเป็นได้ ถ้าไม่ใช่เจ้าของที่ดินแม้จะถูกที่ดินอื่นล้อมก็ไม่มีสิทธิขอให้เปิดทางจําเป็น ทางจําเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วย

การที่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่รับโอนมามีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินในฐานะทางจําเป็นมาก่อนก็ไม่ได้หมายความว่า เจ้าของที่ดินที่รับโอนมาจะได้สิทธิในทางพิพาทนั้นด้วยอย่างภาระจํายอม (คําพิพากษาฎีกาที่ 517/2509, 2196/2514) เจ้าของที่ดินรวมถึงคนในครอบครัวและบริวาร ต้องใช้ค่าตอบแทนเป็นค่าใช้ที่ดิน แต่การฟ้องขอให้เปิดทางจําเป็น ไม่จําต้องเสนอชดใช้ค่าทดแทนก่อน มีสิทธิใช้ยานพาหนะผ่านทางจําเป็นได้ แต่ต้องให้เสียหายน้อยที่สุด ทางจําเป็นอาจเป็นภาระจํายอมโดยอายุความได้ถ้าใช้ทางจําเป็นปรปักษ์กับเจ้าของ ทางจําเป็นไม่จําเป็นต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 1338) เพราะทางจําเป็นเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย และผู้ที่จะขอใช้ทางจําเป็นไม่จําเป็นต้องใช้สิทธิมานาน ถูกล้อมวันไหน เวลาใด แม้จะเพิ่งเข้ามาอยู่ในที่ดินซึ่งถูกล้อมก็ขอใช้ทางจําเป็นได้

คำถาม : หนี้เป็นมรดกหรือไม่ ?

เมื่อพูดถึงมรดก หลายคนคงจะนึกถึงแค่เพียงการจัดการและส่งมอบทรัพย์สินให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ตายแต่เพียงด้านเดียว โดยอาจลืมนึกไปว่า หากผู้ตายก็มีหนี้สินด้วย แล้วหนี้สินนี้เป็นมรดกด้วยหรือไม่ มีคำตอบก่อนที่จะไปตอบคำถามว่าหนี้เป็นมรดกหรือไม่ เรามาเรียนรู้กันก่อนว่า แล้วมรดกคืออะไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย รวมถึงสิทธิผูกพันในสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ สิทธิและหน้าที่ เช่น หน้าที่ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ และความรับผิดต่างๆ เช่น การผิดสัญญาและการละเมิด เป็นต้น ทั้งหมดนี้เราจะเรียกรวมกันว่าเป็น กองมรดกของผู้ตาย ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.ทายาทโดยพินัยกรรม คือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามที่ผู้ตายกำหนดไว้ในพินัยกรรม
2.ทายาทโดยธรรมคือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย มี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลัง ดังต่อไปนี้
(1) ผู้สืบสันดาน (2) บิดามารดา (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา. ส่วนคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายด้วย โดยมีลำดับชั้นเท่ากับผู้สืบสันดาน

มรดกจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลถึงแก่กรรม และมรดกของบุคคลนั้นจะตกทอดถึงทายาททันที ทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิด โดยทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดที่เกิดขึ้นพร้อมกับหรือเนื่องจากความตายของเจ้ามรดก เช่น เงินที่ผู้รับผลประโยชน์ได้รับจากสัญญาประกันชีวิตของผู้ตาย ไม่ถือว่าเป็นกองมรดก หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นภายหลังที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ก็ไม่ถือว่าเป็นกองมรดกของผู้ตาย (ถือว่าเป็นผลประโยชน์ของทายาท) ดังนั้น หนี้จึงเป็นมรดก เพราะเป็นหน้าที่ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แม้ว่าเจ้ามรดกจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่หน้าที่ในการชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้จะยังคงอยู่ แล้วทายาทจะต้องชำระหนี้เท่าไร ต้องชำระทั้งหมดเลยไหม แล้วถ้าเงินที่มีไม่พอจ่ายจะทำอย่างไร

คำตอบ คือ กรณีที่เจ้ามรดกมีหนี้สินซึ่งสร้างภาระไว้ก่อนเสียชีวิตในจำนวนที่มากกว่าทรัพย์มรดก หรือมีแต่หนี้สิน ไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินใดๆ ให้แก่ทายาทเลย ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับ เช่น ทรัพย์มรดกของผู้ตายมีมูลค่า 2 ล้านบาท แต่ผู้ตายมีหนี้สินอยู่ 3 ล้านบาท ดังนั้นทายาทจะต้องรับชดใช้หนี้สินในจำนวนเงินที่ไม่เกิน 2 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 1 ล้านบาทที่เหลือ ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดเฉพาะบุคคลนั้น นั่นก็หมายความว่า หากผู้ตายมีแต่หนี้สินและไม่มีทรัพย์มรดกเลย ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินนั้น แต่หากมีทรัพย์มรดกเกินกว่าหนี้สิน ทายาทต้องชดใช้หนี้สินที่มีทั้งหมดก่อน จากนั้นจึงค่อยนำมรดกมาแบ่งกัน
จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ระบุไว้ดังนี้ ‘มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย ตามกฎหมาย เพื่อให้ทายาทสามารถแบ่งมรดกได้อย่างเร็วที่สุด จึงได้กำหนดว่าเจ้าหนี้ต้องฟ้องเอาเงินจากกองมรดกภายใน 1 ปีตั้งแต่เจ้ามรดกตาย หรือรู้ว่าเจ้ามรดกตาย ซึ่งโดยปกติเมื่อลูกหนี้เสียชีวิต เจ้าหนี้ก็น่าจะทราบได้ เพราะลูกหนี้จะขาดส่งดอกเบี้ย เมื่อขาดส่งดอกเบี้ย ก็ต้องมีการติดตามทวงถาม และจะทำให้เจ้าหนี้ได้ทราบว่าลูกหนี้ได้เสียชีวิตแล้ว แต่ถ้าไม่รู้ และมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าตนเองไม่รู้ ก็สามารถฟ้องได้ภายใน 10 ปี แต่ถ้าเกิน 10 ปีแล้วเพิ่งรู้ จะไม่สามารถฟ้องได้ หากทายาทได้แบ่งมรดกไปแล้ว เจ้าหนี้ต้องฟ้องเอากับทายาททุกคนที่ได้รับการแบ่งมรดก จะฟ้องเฉพาะทายาทคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เพราะทายาทแต่ละคนจะรับผิดชอบหนี้เท่ากับหรือไม่เกินมรดกที่ได้รับจากเจ้ามรดก หากเจ้ามรดกมีคู่สมรส และมีหนี้สินร่วมกันซึ่งสร้างภาระไว้ก่อนเสียชีวิต หนี้สินร่วมนั้นจะถูกแบ่งครึ่งระหว่างเจ้ามรดกและคู่สมรส โดยหนี้สินในส่วนของเจ้ามรดกจะตกทอดสู่ทายาททันที (เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดก)

กล่าวโดยสรุป หากเจ้ามรดกมีหนี้สิน หนี้ถือว่าเป็นมรดก โดยที่เจ้าหนี้สามารถทวงเงินกับทายาทได้เพียงเท่ากับมรดกที่ได้รับเท่านั้น หากมีหนี้มากกว่านั้น ทายาทก็ไม่ต้องจ่าย โดยเจ้าหนี้กองมรดกต้องฟ้องทายาทให้ชำระหนี้กองมรดกภายในกำหนด 1 ปีนับแต่เจ้าหนี้ได้ทราบหรือควรทราบถึงความตายของเจ้ามรดก หรือภายในกำหนด 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และต้องฟ้องทายาททุกคน จะฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น เวลาที่รับมรดกมา ต้องเข้าใจไว้ด้วยว่าจะต้องรับภาระหนี้สินของผู้ตายมาด้วย ทายาทจึงควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามรดกที่ได้เป็นทรัพย์สิน และหนี้สินอะไรบ้าง

คำถาม : กรรมการค้าขายแข่งกับห้าง ต้องรับผิดชอบอย่างไร ?

กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดในหนี้ทั้งปวงของห้างโดยไม่จำกัดจึงต้องรับผิดชอบ ตามป.พ.พ. 1025 และ 1038 มาตรา 1025 อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด มาตรา 1038 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน

กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดค้าขายแข่งกับห้างก็ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ.1066 , 1067 มาตรา 1066 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่น ซึ่งประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น เว้นไว้แต่จะได้รับคำยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมด แต่ข้อห้ามเช่นว่ามานี้ ท่านว่าจะไม่พึงใช้ได้ ถ้าหากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้รู้อยู่แล้วในเวลาเมื่อลงทะเบียนห้างหุ้นส่วนนั้นว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งได้ทำกิจการ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นอันมีวัตถุที่ประสงค์อย่างเดียวกัน และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนที่ทำไว้ต่อกันนั้นก็ไม่ได้บังคับให้ถอนตัวออก มาตรา 1067 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในมาตราก่อนนี้ไซร้ ท่านว่าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมดหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น แต่ทั้งนี้ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน อนึ่ง บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นในอันจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วน

กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งผู้ถือหุ้นมีทั้งประเภทรับผิดชอบ จำกัด และ รับผิดชอบ ไม่จำกัด หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างใดมีหลายคน ก็ต้องห้ามไม่ให้ค้าแข่งกับห้างทุกคน ตาม ป.พ.พ. 1066 ประกอบ มาตรา 1080 มาตรา 1080 บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นมีอยู่หลายคนด้วยกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นวิธีบังคับในความเกี่ยวพันระหว่างคนเหล่านั้นเอง และความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นกับห้างหุ้นส่วน ส่วนผู้เป็นหุ้นส่วนแบบจำกัดความรับผิด สามารถค้าแข่งกับห้างได้ ตาม ป.พ.พ. 1090 มาตรา 1090 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะประกอบการค้าขายอย่างใดๆ เพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกก็ได้ แม้ว่าการงานเช่นนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับการค้าขายของห้างหุ้นส่วนก็ไม่ห้ามกรณีบริษัทจำกัด หากกรรมการค้าแข่งกับบริษัทแล้วทำให้เกิดความเสียหาย แก่บริษัท ป.พ.พ. 1169 ให้สิทธิฟ้องกรรมการได้

กรณีบริษัทมหาชน จำกัด พ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 86 ได้ห้ามไว้ดังนี้ มาตรา 86 ห้ามมิให้กรรมการประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นกรรมการของบริษัทเอกชนหรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น เว้นแต่จะได้แจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบก่อนที่จะมีมติแต่งตั้งในกรณีที่กรรมการคนใดฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่ง บริษัทจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในการที่บริษัทได้รับความเสียหายจากกรรมการคนนั้นก็ได้ทั้งนี้ ต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่บริษัททราบถึงการฝ่าฝืนและไม่เกินสองปีนับแต่วันฝ่าฝืน ในกรณีที่บริษัทไม่ใช้สิทธิเรียกร้องตามวรรคสอง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหรือหลายคนซึ่งถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดจะแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัทดำเนินการเรียกร้องก็ได้ ถ้าบริษัทไม่ดำเนินการตามที่ผู้ถือหุ้นแจ้งภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่แจ้ง หรืออายุความตามวรรคสองเหลือน้อยกว่าหนึ่งเดือน ผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นเพื่อบริษัทก็ได้ และให้นำมาตรา 85 วรรคสอง (2) และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ช่องทางการติดต่อ
ท่านสามารถติดต่อ สอบถาม ขอใช้บริการ และ/หรือ แจ้งปัญหาการใช้บริการ ผ่านช่องทางที่สะดวกด้านล่าง

 

Visitors: 3,036